สกสว. หนุน พื้นที่พลิกวิกฤติน้ำ ต่อจิ๊กซอว์ “ โมเดลน่าน ”
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จับมือ ทีมวิชาการและทุกภาคส่วนหนุนเสริมการสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ เพื่อพลิกวิกฤติน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยร่วมกันต่อจิ๊กซอว์โมเดลน่านเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมสู่การขยายผลไปยังพื้นที่อื่นให้ครบ 10 จังหวัด ภายใต้ความร่วมมือของ อว. และกระทรวงมหาดไทย
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศึกษาดูงานพื้นที่รูปธรรมการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ เรียนรู้การพัฒนาผู้บริหาร บุคลากรและแกนนำตำบลในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำแผนน้ำชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยมีจิ๊กซอว์สำคัญคือ นักจัดการ ที่เป็นทีมงานหลังบ้านผู้ขับเคลื่อนงาน รวมถึงเรียนรู้การนำระบบภูมิสารสนเทศด้านน้ำมาขับเคลื่อนการจัดทำแผนงานและกิจกรรม นำโดยนายชิษนุวัตร มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับแผนการจัดการน้ำระดับจังหวัด
นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ระบุว่า.. การบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ต้องวิเคราะห์ปัญหาและดำเนินงานตามหลักวิชาการทั้งเรื่องมวลน้ำ ความสามารถในการผ่านน้ำของเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูและตั้งรับ มีระบบป้องกันและคันกั้นน้ำ ควบคู่กับความสามารถในการจัดการน้ำที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และการใช้ประโยชน์ของแม่น้ำ รวมถึงการปรับตัวของชุมชนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับการออกแบบเชิงนโยบาย การจัดการสิ่งแวดล้อม คน น้ำ ป่า ด้วยหลักวิศวกรรมแบบผสมผสาน เพื่อปกป้องและช่วยเหลือตัวเองได้ ขณะที่ภาครัฐต้องมีมาตรการที่คล่องตัว ต่อรองและจูงใจคนส่วนรวมได้ ตัดสินใจแจ้งเตือนโดยไม่ผิดพลาดด้วยองค์ความรู้และข้อมูล รวมถึงสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้ประชาชน งานวิชาการจะเป็นตัวตอบโจทย์ที่นำไปสู่การสื่อสารและการวิเคราะห์ที่แม่นยำ
เช่นเดียวกับ นายมนูญศักดิ์ สังข์ทอง นายอำเภอบ้านหลวง กล่าวว่า.. เป็นโอกาสดีที่ภาควิชาการมาช่วยพื้นที่ขนาดเล็กที่มีศักยภาพระดับหนึ่งตามนโยบายของปลัดกระทรวงมหาดไทยที่เน้นการบูรณาการกับ 7 ภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการป้องกัน เฝ้าระวัง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ด้วยการบริหารจัดการแบบพึ่งพาด้วยความรวดเร็วโดยไม่ต้องรอส่วนราชการ ขณะที่นายประดิษฐ์ เพชรแสนอนันต์ กรรมการลุ่มน้ำน่านและ เลขานุการชมรมคนรักษ์ดิน น้ำ ป่า น่าน เสริมว่า การบริหารจัดการน้ำชุมชนต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกับทุกภาคส่วนให้มีน้ำกินน้ำใช้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขับเคลื่อนเมืองน่านให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ โดยมีพื้นที่ต้นแบบที่เห็นผลจริงซึ่งใช้กระบวนการวิจัยหนุนเสริมจัดการน้ำโดยท้องถิ่นชุมชนผ่านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างง่าย จัดทำแผนที่เดินดิน ปฏิทินการผลิตตามฤดูกาล
ด้าน ว่าที่ ร.ต.อลงกต ประสมทรัพย์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวก กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า.. โดยกลไกการมีส่วนร่วม เพื่อจัดเก็บข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่ สมดุลน้ำ ผังน้ำ ว่าจะอัพเดตทุกปี ๆ ละ 2 ครั้ง คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำระดับตำบลทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและนักวิชาการ วิเคราะห์สถานการณ์และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้วยตัวเอง ในระยะกลางโครงการที่เกินศักยภาพของ อบต. ต้องใช้งบประมาณร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำแผนผ่านระบบ Thai Water Plan และระยะยาวโครงการที่ใช้งบประมาณสูงในการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ จะทำงานร่วมกับทีมวิชาการเสนอไปยัง หน่วยงานที่รับผิดชอบ
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า.. สกสว. สนับสนุนการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำชุมชนมาหลายปีแล้ว ทำให้มีต้นแบบที่เป็นรูปธรรมหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือจังหวัดน่านที่มีศักยภาพในระดับท้องถิ่น การศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้รับรู้ถึงความซับซ้อนของระบบการจัดการน้ำและภัยพิบัติ ชุดข้อมูลและองค์ความรู้ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นทำให้การทำงานยากขึ้น จึงต้องมีความรู้ใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกับพื้นที่และระดับนโยบาย เพื่อให้องคาพยพทั้งหมดเห็นปัญหาที่มีความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน และหาทางเชื่อมโยงกับท้องถิ่นและจังหวัดตลอดจนลุ่มน้ำอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการการทำงานโดยใช้ศักยภาพของพื้นที่ วิเคราะห์ปัญหาด้วยข้อมูลต่าง ๆ ส่งต่อให้จังหวัด มีภาควิชาการช่วยให้การคาดการณ์แม่นยำมากขึ้น ซึ่งโมเดลน่านมีความน่าสนใจในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้
“ การจัดการน้ำชุมชน ชุมชนต้องเข้าใจและลุกขึ้นมาจัดการด้วยตัวเอง เติมเต็มด้วยการพัฒนากลไกและถอดบทเรียนความสำเร็จแก่ อบต.อื่น สกสว.จะทำงานร่วมกับทีมวิชาการและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่รัฐบาลอาจจะต้องลงทุนเพิ่มเติมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงสื่อสารกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้ได้ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามความยากลำบากไปได้ โดยจะคัดเลือกพื้นที่ 10 จังหวัดเพื่อขับเคลื่อนงานตามโจทย์ปัญหาและความพร้อมของพื้นที่ เราจะหนุนเสริมความพร้อมของทีมวิชาการ จังหวัดและชุมชน สิ่งสำคัญคือต้องมีรายละเอียดของชุดข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ พร้อมแบ่งปันข้อมูลชุมชนและความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงไปสู่กลไกระดับจังหวัดและระดับลุ่มน้ำ และมีองค์ความรู้ตามหลักวิชาการมาประกอบการตัดสินใจวางแผนการบริหารจัดการน้ำของแต่ละภาคส่วน ”
ด้าน รศ. ดร.สุจริต กล่าวทิ้งท้ายว่า.. จากนี้ไปจะเตรียมต่อยอดขับเคลื่อนงานโดยเพิ่มเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยใช้แนวคิดการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ชุมชน และจังหวัด เสริมด้วยการจัดการด้านการตลาด เพื่อเตรียมแผนงานและงบประมาณรองรับในการจัดทำกลไกคลินิกวิชาการสนับสนุน โดยวางเป้าไว้ว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
“ จากผลงานวิจัยชี้ว่าพื้นที่มีความสามารถในการพัฒนาโครงการได้ดี จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ดีกว่า รูปแบบการทำงานในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันตามปัจจัยและบริบท ซึ่งต้องกำหนดผู้ขับเคลื่อน โดยมีนโยบายจากกระทรวงมหาดไทยที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอร่วมรับผิดชอบดำเนินการในระดับพื้นที่ ในระยะยาวควรมีกฎกระทรวงรองรับการวางแผนและทำงานด้านน้ำระดับพื้นที่ที่ชัดเจน และมีโอกาสได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงบประมาณเพิ่มขึ้น เริ่มจากการทำ sandbox เชื่อมโยงกับกระทรวงมหาดไทย อว. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนักวิชาการเป็นกลไกด้านเทคนิค มีงานวิจัยประกอบการทำแผนงานหลักในการบริหารจัดการน้ำและแผนงานสร้างรายได้ รวมทั้งเชื่อมโยงกับภาคเอกชนเพื่อทำแผนการตลาดนำเป็นเครือข่ายร่วมกัน ” รศ. ดร.สุจริต กล่าวสรุป ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น