มจพ. จัดงานวันแห่งเกียรติยศแสดงความยินดีทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot แชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลก 2024 ...
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดงานวันแห่งเกียรติยศแสดงความยินดีแก่ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย World RoboCup Rescue 2024 ในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 เวลา 16.00 – 20.00 น. ณ หอประชุมประดู่แดง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สืบเนื่องจาก ทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot (ไอราฟ โรบอท) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) คว้าแชมป์โลก รางวัลชนะเลิศ หุ่นยนต์กู้ภัย World Robocup Rescue 2024 โดยเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 10 และ อีก 2 รางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมระดับโลก คือ รางวัล Best in class mobility (รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนยอดเยี่ยมระดับโลก) และรางวัล Best in class Dexterity (รางวัลสมรรถนะการทำงานแขนกลยอดระดับโลก) ระหว่างวันที่ 16-21 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ เมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลงานหุ่นยนต์ iRAP Robot ได้สร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้ประเทศไทยและ มจพ. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 10 มจพ. จึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกแห่งเดียวในโลกที่เป็นแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยถึง 10 สมัย โชว์ศักยภาพหุ่นยนต์และนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมระดับโลก
โดยมี ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พร้อมด้วย ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติและแสดงความยินดีทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot, ดร.โอกาส เตพละกุล อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ คุณสุรเดช บัวทรัพย์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวแสดงความยินดีทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การสวมเสื้อสามารถให้แก่นักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มอบทุนการศึกษา มอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเกียรติบัตรแก่อุปการคุณสนับสนุนทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot และเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและหน่วยงานภายใน มจพ. ที่ได้มอบทุนการศึกษาแก่ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot การแสดงของนักศึกษาจากชมรมศิลปะการแสดง มจพ. การขับร้องและบรรเลงเพลง โดยนักศึกษาชมรมดนตรีสากล และ ประดู่แดงแบนด์
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. จาก ประเทศไทย สามารถคว้าแชมป์โลก โดยทำคะแนนสูงสุด 1076 คะแนน ส่วนรองแชมป์โลกอันดับ 2 ทีม Shinobi ประเทศญี่ปุ่น ได้ 921 คะแนน และรองแชมป์โลกอันดับ 3 ทีม Alert ประเทศเยอรมัน ได้ 825 คะแนน ปีนี้มีทีมหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าร่วมจำนวน 20 ทีม จาก 10 ประเทศทั่วโลก จากนานาประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี ประกอบด้วย เยอรมัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส จีน เกาหลีใต้ ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ เม็กซิโก บังคลาเทศ และไทย โดยแต่ละรอบของการแข่งขันทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT ทำคะแนนรวมจากทุกสนามเป็นอันดับที่ 1 ส่งผลให้ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT ตัวแทนประเทศไทยสามารถคว้าชัยชนะได้ ส่วนการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT ทั้งฮาร์ดแวร์ ที่เป็นส่วนโครงสร้าง และการออกแบบสร้างด้วยฝีมือเด็กไทย มีเพียงชิปประมวลผล (Processing chip) ที่ยังต้องอาศัยจากต่างประเทศเนื่องจากประเทศไทยยังผลิตไม่ได้ ส่วนซอฟต์แวร์ทั้งหมดออกแบบและสร้างขึ้นจากฝีมือนักศึกษาและอาจารย์ในทีมทั้งหมดไม่ได้ใช้ของจากต่างประเทศ
จุดเด่นที่ทำให้ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยคว้าแชมป์โลกในครั้งมีอยู่ 2 องค์ประกอบที่บ่งบอกถึงสมรรถนะหุ่นยนต์สุดยอดเหนือชั้นจากทีมทั่วโลกประเทศอื่น ๆ ได้แก่..
1) Mobility หรือด้านการขับเคลื่อน หุ่นยนต์ของเราสามารถวิ่งผ่านสิ่งกีดขวางอย่างเช่น หิน ทราย หรือบล๊อกไม้ซึ่งเป็นการจำลองการเกิดอุบัติภัย อาคารถล่ม
และ 2) Dexterity หรือด้านการใช้แขนกล หุ่นยนต์สามารถใช้แขนกลในการหยิบจับสิ่งกีดขวางหรือวัตถุในพื้นที่ประสบภัย หรือการเปิดประตูอาคาร
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย วีดิทัศน์ “ เส้นทางสู่ความสำเร็จ ” ในการแข่งขัน “ World RoboCup Rescue 2024 ” ผู้ทรงคุณวุฒิสวมเสื้อสามารถให้แก่นักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มอบทุนการศึกษาให้แก่ทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ และเกียรติบัตรแก่ผู้มีอุปการคุณสนับสนุนทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot หุ่นยนต์กู้ภัยโลก สมัยที่ 10 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งอีกครั้งบนเวทีระดับโลก และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่า มจพ. เป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์ที่นานาชาติรู้จักฝีไม้ลายมือและชื่อเสียงเยาวชนไทยเป็นอย่างดี เป็นการตอกย้ำความเป็นที่สุดของแชมป์โลกถึง 18 ปี ตั้งแต่แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 1 ของ มจพ.ในปีพ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006 ) จากเวทีการแข่งขัน World RoboCup Rescue กับ ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยนานาชาติทั่วโลก ณ เมือง เบรเมน ประเทศเยอรมัน ล่าสุด แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 10 ของ มจพ. ในปี พ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024) จากเวทีการแข่งขัน World RoboCup Rescue กับ ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยนานาชาติทั่วโลก ณ เมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์
นับเป็นการรักษาแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)ได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 10 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยฝีมือของเยาวชนไทยสู่มหาวิทยาลัยและประเทศชาติ ...
ขวัญฤทัย ศรีวัฒพล
นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการพิเศษ มจพ.
081-9053415 ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น