☄️ จับตา "ขยะอวกาศ" ขนาดครึ่งตัน หล่นจากสถานีอวกาศนานาชาติ พิกัดผ่าน จ.ราชบุรี/ จ.กาญจนบุรี เที่ยงคืนนี้ (9 มี.ค. 67) ตั้งแต่เวลา 00.00 - 00.30 น.
สมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่า.. ขยะอวกาศขนาดครึ่งตัน จากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่กำลังตกลงสู่โลก โดยมีวิถีโคจร (ไม่ใช่จุดตก) เคลื่อนผ่านประเทศไทย บริเวณ จ.ราชบุรี จ.กาญจนบุรี คืนนี้ เวลาประมาณ 00.00 - 00.30 น. หากมีลูกไฟสว่าง ไสวเคลื่อนไปช้า ๆ จากฟ้าตะวันตกยังตะวันออก ให้สันนิษฐานว่าเป็นขยะอวกาศ จากสถานีอวกาศนานาชาติ
#ขยะอวกาศ คืออะไร ?
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า “อวกาศ” เปรียบเสมือนน่านน้ำสากลที่ใหญ่ที่สุด ที่ปัจจุบันมีการส่งดาวเทียมและยานอวกาศจากนานาประเทศทั่วโลก เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านการสำรวจทรัพยากร การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ของโลก การติดต่อสื่อสารทางไกล ไปจนถึง ด้านความมั่นคงของชาติ หรือ ทางการทหาร
ทำให้ภายในปี ค.ศ. 2022 มีดาวเทียมที่ยังคงปฏิบัติภารกิจและโคจรอยู่รอบโลกมากกว่า 5,000 ดวง และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นในทุก ๆ วัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ภายในปี ค.ศ.2030 จะมีดาวเทียมโคจรอยู่รอบโลกมากถึง 60,000 ดวง
อย่างไรก็ดีตาม แม้จำนวน #ดาวเทียม ที่มากขึ้น อาจสื่อถึงความเจริญทางเทคโนโลยีก็จริง แต่ปัญหาใหญ่ที่กำลังจะตามมาในไม่ช้าก็คือ “ขยะอวกาศ” ที่เกิดจากดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานไปแล้ว ซึ่งดาวเทียม 1 ดวงไม่ได้กลายเป็นขยะอวกาศแค่ 1 ชิ้น
หากปล่อยทิ้งไว้ในวงโคจรรอบโลก มันมีโอกาสที่จะถูกชนเข้ากับวัตถุขนาดเล็กในอวกาศอื่น ๆ รวมไปถึงชนกันเองกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ ทำให้จากขยะเพียงชิ้นเดียว ก็กลายเป็นกลุ่มฝูงขยะจำนวนนับไม่ถ้วนที่โคจรอยู่รอบโลกต่อไป
และทำให้ยิ่งเพิ่มโอกาสในการไปชนเข้ากับดาวเทียมดวงอื่น ๆ มากขึ้นไปอีก โดยจากการประเมินในปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะมีขยะอวกาศที่ไม่สามารถติดตามได้มากถึง 100 ล้านล้านชิ้นอยู่รอบโลก และจะยิ่งทวีคูณเพิ่มมากยิ่งขึ้นหากยังไม่มีการกำหนดแนวทางการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการพยายามผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาในการควบคุมดาวเทียม เพื่อลดจำนวนขยะอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับสนธิสัญญาเพื่อปกป้อง High Seas หรือน่านน้ำสากล ที่กว่า 170 ประเทศจากทั่วโลกพร้อมใจกันหาข้อตกลงร่วมกันและลงมือปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดการรุกล้ำทรัพยากรธรรมชาติโดยปราศจากการควบคุม ...
📌 ที่มา : สมาคมดาราศาสตร์ไทย , NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น