กองทัพอากาศ จัดงานสัมมนาวิชาการ RTAF Symposium 2024 ...
ที่ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ / วานนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567) ระหว่างเวลา 08.00 – 16.00 น. กองทัพอากาศ จัดงานสัมมนาวิชาการ RTAF Symposium 2024 โดยมี นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาฯ ทั้งนี้ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ให้การต้อนรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้เกียรติมาร่วมงานสัมมนาฯ นอกจากนี้ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานฯ ได้แก่ คณะกรรมาธิการการทหาร ผู้แทนจากหน่วยงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศชั้นนำ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานด้านงานวิจัยระดับชาติ
โดยงาน RTAF SYMPOSIUM 2024 ภายใต้แนวคิด “ Roadmap to Unbeatable Air Force ” เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ การปาฐกถาพิเศษของ พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ และมีการบรรยายพิเศษที่ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้ความรู้อีกมากมาย สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย
• การบรรยายพิเศษจาก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง บทบาทกรรมาธิการการทหารกับการพัฒนากองทัพ
• การบรรยายเรื่องสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง จากกรมข่าวทหารอากาศ และการแถลงแผนพัฒนากองทัพอากาศตามสมุดปกขาว (RTAF White Paper) จากเสนาธิการทหารอากาศ เพื่อให้ประชาชน หน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ได้รับรู้ ตระหนัก และเข้าใจในบทบาทหน้าที่ และขีดความสามารถที่กองทัพอากาศต้องการ เพื่อการปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการสำคัญตามแนวทางการพัฒนากองทัพอากาศ มุ่งสู่เส้นทางการเป็นกองทัพอากาศที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ และตอบสนองภัยคุกคาม หรือความท้าทายในอนาคตได้
โดยวัตถุประสงค์การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ให้เกิดการบูรณาการและพัฒนาร่วมกัน โดยมุ่งพัฒนา 3 มิติสำคัญ ได้แก่ มิติทางอากาศ มิติไซเบอร์ และมิติอวกาศ อาทิ อากาศยานไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ M-Solar X Unmanned Aerial Vehicle ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในภารกิจป้องกันประเทศและช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอย่างยั่งยืน
สำหรับแนวคิด “ Roadmap to Unbeatable Air Force ” ประกอบด้วยรูปแบบการดำเนินการจัดทำแผนงาน หรือโครงการพัฒนาต่าง ๆ ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่..
รูปแบบที่ 1 คือ โครงการจัดหายุทโธปกรณ์จากผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ใช้เทคโนโลยีทางทหาร มีความเชื่อถือได้ และต้องรับเงื่อนไขนโยบายชดเชยการนำเข้ายุทโธปกรณ์ (Defense Offset Policy) และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนควรให้สิทธิหรือลิขสิทธิ์ต่อกองทัพอากาศและ/หรือบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในการพัฒนาต่อยอดยุทโธปกรณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกองทัพอากาศ
รูปแบบที่ 2 คือ โครงการพัฒนาหรือจัดหายุทโธปกรณ์ ซึ่งให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตามศักยภาพและขีดความสามารถภายใต้มาตรฐานทางทหาร เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการสร้างงานภายในประเทศและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
รูปแบบที่ 3 คือ โครงการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ หรือ การผลิตยุทโธปกรณ์โดยกองทัพอากาศหรือการจ้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศผลิตผลงานวิจัยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทางทหารแล้ว ซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวให้กับกองทัพอากาศและประเทศ ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น