ผบ.ทอ. ร่วมการประชุม ผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ครั้งที่ 20 (20th ASEAN Air Chiefs Conference) ณ กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ...
พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมการประชุม ผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 12 - 15 กันยายน 2566 ณ กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดย พลอากาศเอก ทุน อ่อง (General Htun Aung) ผู้บัญชาการทหารอากาศ กองทัพอากาศเมียนมา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ครั้งที่ 20 (20th ASEAN Air Chiefs Conference) จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ ความร่วมมือของกองทัพอากาศอาเซียนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ” หรือ “ ASEAN Air Forces’ Cooperation for Sustainable Environment ”
โดย กองทัพอากาศ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะร่วมกับกองทัพอากาศอาเซียนในภารกิจปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ลดการปล่อยคาร์บอนฟุตปรินต์ และไม่มีมลพิษทางอากาศ โดยหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือ ปัญหา PM 2.5 ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางการเกษตร ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบภายในประเทศ แต่ส่งผลกระทบไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนด้วย โดย กองทัพอากาศ พร้อมด้วย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้ง “ หน่วยบินปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพอากาศ ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เพื่อสนับสนุนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการทำฝนเทียม โครงการฝนหลวง ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง การดับไฟป่า การลดปัญหา PM 2.5 การยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ และการเพิ่มจำนวนน้ำในเขื่อน
อีกทั้ง กองทัพอากาศ ได้จัดทำกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาความตระหนักรู้ของบุคลากร และจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจัดการระบบและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะส่งเสริมการมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และสังคมที่ขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) ซึ่งนำไปสู่ภารกิจที่หลากหลายในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ การแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการทำตามหลัก 3R ลดการใช้, ใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce, Reuse และ Recycle) โดยโรงพยาบาลและร้านค้าสวัสดิการในกองทัพอากาศงดการให้ถุงพลาสติก ร้านอาหารไม่ใช้กล่องโฟม รวมถึงการใช้ซ้ำโดยใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก และการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการแยกขยะ การใช้แอปพลิเคชันเพื่อช่วยในการจัดการขยะ โดยสามารถทำให้กองบินบางแห่งไม่ต้องมีถังขยะ
นอกจากนี้ กองทัพอากาศได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนกองทัพอากาศ ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูล และการสาธิต ในด้านไบโอดีเซล พลังงานชีวมวล พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อปลูกฝัง เสริมสร้างความรู้ และความตระหนักรู้ให้กับบุคลากรในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการติดตั้งแผงโซล่าร์ลอยน้ำ (Floating Solar) บริเวณกองบัญชาการกองทัพอากาศ แผงโซล่าร์บนหลังคา (Solar Rooftop) และแผงโซล่าร์บนดิน (Solar Farm) ในพื้นที่กองบินต่างจังหวัดและสถานีรายงาน ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับองค์กรได้เป็นอย่างมาก รวมถึงการติดตั้งสถานีเติมประจุสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการลดใช้คาร์บอนให้กับบุคลากร
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้กล่าวเชิญชวน ผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน พิจารณาเข้าร่วมในการฝึกการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติกองทัพอากาศอาเซียน ASEAN HADR Exercise 2025 ในประเทศไทย เพื่อทบทวนมาตรฐานการปฏิบัติงาน ในหัวข้อ การปฏิบัติภารกิจค้นหาและช่วยชีวิต, การปฏิบัติการทางการแพทย์ตอบสนองภาวะฉุกเฉิน และการส่งกลับสายแพทย์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และพัฒนาศักยภาพกองทัพอากาศอาเซียนในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางธรรมชาติร่วมกัน ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น