ทอ. จัดพิธีบรรจุ “ เครื่องบิน T-6C ” เข้าประจำการสำหรับภารกิจฝึกศิษย์การบินของกองทัพอากาศ ทดแทนเครื่องบิน PC-9 ที่ครบวาระปลดประจำการหลังฝึกศิษย์การบินมาแล้วกว่า 30 ปี ...

พลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีบรรจุเครื่องบิน T-6C จำนวน 12 เครื่อง เข้าประจำการเป็น “ เครื่องบินฝึกแบบที่ 22 ” ของกองทัพอากาศ ณ ฝูงฝึกขั้นปลาย กองฝึกการบิน โรงเรียนการบิน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 เพื่อรองรับภารกิจฝึกศิษย์การบินของกองทัพอากาศ ทดแทนเครื่องบินฝึกแบบที่ 19 หรือ PC-9 ที่ครบวาระปลดประจำการระหว่างปี 2564 - 2566 หลังใช้ปฏิบัติภารกิจฝึกศิษย์การบินของกองทัพอากาศ มาตั้งแต่ปี 2534 นับเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี พร้อมเปิดอาคารฝึกบินจำลอง โรงเรียนการบิน ซึ่งมีระบบเครื่องฝึกบินจำลองของเครื่องบินฝึกแบบต่าง ๆ ประกอบด้วย CT-4E สำหรับการฝึกศิษย์การบินชั้นประถม, DA-42 สำหรับฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยม (บินลำเลียง) และ T-6C สำหรับฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยม (บินขับไล่/โจมตี)







ทั้งนี้ กองทัพอากาศได้ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินฝึกที่มีขีดความสามารถในการเสริมสร้างพื้นฐานการฝึก การบินขับไล่/โจมตี โดยใช้อากาศยานและระบบเครื่องฝึกบินจำลองและอุปกรณ์สนับสนุนการฝึกที่มีเทคโนโลยีเหมาะสม สามารถวิเคราะห์และประเมินผลการฝึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งระบบการส่งกำลังและซ่อมบำรุงที่มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐานสากลระดับโลก สามารถทำการฝึกศิษย์การบินให้มีความรู้และทักษะการบินขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติงานกับเครื่องบินขับไล่/โจมตี ได้อย่างปลอดภัยเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่ศิษย์การบินจะต้องทำการฝึกบินกับเครื่องบินขับไล่/โจมตีสมรรถนะสูงของกองทัพอากาศต่อไป

โดยได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ และตัดสินใจจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินแบบ T-6C ผลิตโดยบริษัท Textron Aviation Defense, LCC สหรัฐอเมริกา จำนวน 12 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และระบบเครื่องฝึกบินจำลอง เพื่อใช้งานในการฝึกศิษย์การบินชั้นมัธยม 


T-6C เป็นหนึ่งในเครื่องบินฝึกที่มีเทคโนโลยีและระบบการฝึกที่ทันสมัยที่สุดของโลก มีคุณลักษณะและขีดความสามารถตรงตามที่กองทัพอากาศต้องการ และสามารถประหยัดงบประมาณในการฝึกนักบินขับไล่โจมตีในภาพรวมของกองทัพอากาศได้ โดยครอบคลุมความต้องการของกองทัพอากาศในรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้..

     1. เป็นเครื่องบินฝึกศิษย์การบินที่มีสมรรถนะและเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต มีระบบสนับสนุนการฝึกตามภารกิจที่กองทัพอากาศต้องการ

     2. ระบบสนับสนุนการฝึกมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความสมบูรณ์ สามารถวัดผล และวิเคราะห์การฝึกของนักบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     3. ระบบส่งกำลังบำรุงเป็นที่น่าเชื่อถือ มีการใช้งานแพร่หลาย และมีความง่ายในการดำเนินการ

     4. มีอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุง พัสดุอะไหล่ (Spare Parts) และเอกสารเทคนิคที่เกี่ยวข้องเพียงพอในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจตามที่กองทัพอากาศกำหนด และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สนับสนุนการบินสามารถปฏิบัติงานซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     5. มีความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจ โดยสามารถประหยัดงบประมาณการฝึกนักบินขับไล่โจมตีในภาพรวมของกองทัพอากาศได้







นอกจากนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศหรือ S-Curve ที่ 11 กองทัพอากาศจึงได้กำหนดให้เป็นการจัดหาพร้อมการพัฒนา ซึ่งบริษัท Textron Aviation Defense, LCC และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ร่วมตรวจสอบขีดความสามารถอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเสนอให้มีการจ้างงานอุตสาหกรรมภายในประเทศให้มีส่วนร่วมในการผลิตและประกอบเครื่องบินฝึกแบบ T-6C ภายในประเทศ ซึ่งเป็นโครงการแรกของกองทัพอากาศที่ดำเนินการและประสบความสำเร็จในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศหรือ S-Curve ที่ 11 การบรรจุเข้าประจำการเครื่องบินฝึกแบบที่ 22 หรือ T6C ในครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ก้าวสำคัญของการวางรากฐานการฝึกศิษย์การบินรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้านการบินและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ททท. ร่วมมือกับ บขส. จัดรถนำเที่ยวฟรี 10 วัน โอกาสครั้งสำคัญ เปิดกรุ มรดกธรรมล้ำค่าแห่งยุครัตนโกสินทร์ เส้นทางเที่ยวชมโบราณวัตถุล้ำค่าที่หาดูได้ยากกับกิจกรรม “ เป็นบุญตา ครั้งหนึ่งในชีวิต ”

สมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย (TACCO) แถลงข่าวการจัดตั้งสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย พร้อมเปิดตัว งาน Thailand Craft Chocolate Fest’24 ...

ค้าน ! ขึ้นค่าแรง 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ .. 17 สภาองค์การนายจ้าง แสดงจุดยืนร่วมกันคัดค้าน การขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ...