นักวิจัย มจธ. โชว์เทคโนโลยีวิศวกรรมโบราณสถาน รัฐ-เอกชน รุมจีบ ทำฐานข้อมูลดิจิทัลสถานที่สำคัญ ...
ทีมวิจัย มจธ. โชว์ผลงานเทคโนโลยีอนุรักษ์โบราณสถานโดยใช้ความรู้ทางวิศวกรรมและการเก็บข้อมูลดิจิทัล 3 มิติเพื่อตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ พร้อมขยายผลพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลในสถานที่สำคัญให้กับหน่วยงานรัฐระดับประเทศและเอกชนมากมาย
รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโลยีพระจอมเกล้า เปิดเผยถึงการนำผลงานวิจัยมาร่วมจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาข้อมูลดิจิทัล 3 มิติ เพื่อการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ว่าโครงการนี้เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับสนับสนุนจากหลายภาคส่วน โดยเริ่มต้นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในช่วงปี 2561-2562 และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) รวมถึงสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทีมวิจัยได้มุ่งพัฒนากระบวนการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิศวกรรมร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อจัดทำข้อมูลดิจิทัล 3 มิติสำหรับการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและการอนุรักษ์โบราณสถาน
ผลงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการประเมินและติดตามสภาพโครงสร้างพื้นฐาน โบราณสถาน และอาคารสำคัญต่างๆ โดยได้รับการยอมรับและนำไปใช้กับหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ กรมศิลปากร กรมโยธาธิการและผังเมือง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ อีกมาก นอกจากนี้ทีมวิจัยได้ยื่นขอสิทธิบัตร 1 เรื่อง ได้แก่ กระบวนการประเมินแรงดึงในสายเคเบิ้ลขนาดใหญ่โดยอาศัยเทคโนโลยีการสแกนวัตถุสามมิติด้วยแสงเลเซอร์ เลขที่คำขอ 2101003678
ขณะที่ รศ. ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล เผยถึงโครงการการพัฒนาข้อมูลดิจิทัล 3 มิติ เพื่อการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ว่าทีมวิจัยได้พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลและองค์ความรู้สำหรับการประเมินทางวิศวกรรมและติดตามสภาพเจดีย์ของไทย โดยมีกรณีศึกษาประกอบด้วย เจดีย์วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดกระจี และวัดหลังคาขาว ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา รวมถึงผลิตสื่อวีดิทัศน์เผยแพร่องค์ความรู้เบื้องต้นที่ได้จากการวิจัย เพื่อสื่อสารให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจได้รับรู้ถึงเทคโนโลยีและวิธีการสมัยใหม่ในการอนุรักษ์โบราณสถานให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ขยายผลการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการเก็บข้อมูลภาพกลุ่มจุดสามมิติวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม สะพานพระราม 9 อาคารหอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 การตรวจสอบประเมินแรงดึงเคเบิ้ลและโครงหลังคาอาคารไบเทค เป็นต้น ตลอดจนการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมศิลปากร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย บริษัทสโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด(มหาชน) และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในการตรวจสอบประเมินอาคารสำคัญของประเทศอีกหลายแห่ง ซึ่งองค์ความรู้จากการทำงานกับหลายภาคส่วนได้รับการถ่ายทอดไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรแก่สำนักสถาปัตยกรรม และโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับบุคลากรการเคหะแห่งชาติ
“ ผลงานเหล่านี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของทีมวิจัยอย่างมากที่ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นมาประยุกต์ใช้กับงานเก็บข้อมูลและประเมินโครงสร้าง ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์โบราณสถานอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ รวมถึงขยายผลต่อยอดไปยังสถานที่สำคัญของประเทศได้อีกมากมาย ” รศ. ดร.สุทัศน์กล่าวปิดท้าย ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น