อว. ขึ้นเหนือ นำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ศึกษาพืชสมุนไพรและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นถิ่นชนเผ่าอาข่า สู่การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ...

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดย ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว., นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว., นำคณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการวิจัย เรื่อง “ การศึกษาพืชสู่การสร้างแหล่งเรียนรู้สมุนไพร อาหารพื้นบ้านในชุมชนชาติพันธุ์อ่าข่า จังหวัดเชียงราย ” มี นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก แห่งศูนย์วิจัยเพื่อท้องถิ่นด้านชาติพันธุ์-ชนเผ่า จังหวัดเชียงราย เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า และโครงการวิจัย เรื่อง “ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าชนเผ่าอ่าข่า สู่การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ” โดยมี นายอาพี สะโง้ เป็นหัวหน้าโครงการฯ เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าของชนเผ่าอ่าข่า ภายใต้แผนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) ด้านชนเผ่า จังหวัดเชียงราย พร้อมนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวสุภาพรรณ โทขัน ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก วช. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยฯ ณ บ้านแสนใจพัฒนา ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และ บ้านสองแควพัฒนา ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2566

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า.. กระทรวง อว. มีนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับตามเป้าประสงค์ในการพัฒนาประเทศใน 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่ง วช. ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการบริหารทุนวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ การติดตามงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) ด้านชนเผ่า จังหวัดเชียงราย ของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นชาติพันธุ์-ชนเผ่า จังหวัดเชียงราย ภายใต้เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่าในครั้งนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากคณะตรวจเยี่ยมจะได้เห็นภาพการดำเนินงานในพื้นที่จริงแล้ว ยังจะได้รับทราบปัญหาอุปสรรค และให้ข้อเสนอแนะที่จะสะท้อนให้ผู้แทนในระดับกระทรวงได้รับทราบ และเป็นประโยชน์ต่อแนวทางในการกำหนดแผนงานในระดับกระทรวงต่อไป

นางสาวสุภาพรรณ โทขัน ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก วช. กล่าวว่า.. วช. ภายใต้กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม สร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้กับประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ได้พัฒนาตนเองให้เป็นนักวิจัย และได้นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนา และแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง รวมไปถึงการสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอดผลงานวิจัยทั้งที่เป็นรูปแบบของกระบวนการ รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน นำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศต่อไป

นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “ การศึกษาพืชสู่การสร้างแหล่งเรียนรู้สมุนไพร อาหารพื้นบ้านในชุมชนชาติพันธุ์อ่าข่า จังหวัดเชียงราย ” กล่าวว่า.. วช. ได้ให้การสนับสนุนทุนโครงการวิจัย เรื่อง “ การศึกษาพืชสู่การสร้างแหล่งเรียนรู้สมุนไพร อาหาร พื้นบ้านในชุมชนชาติพันธุ์อ่าข่าจังหวัดเชียงราย ” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนวัยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุของชุมชนบ้านแสนใจพัฒนา ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกรักต่อทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีการจัดกลไกการทำงานของชุมชน เพื่อทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ และป่า เพื่อเป็นแหล่งการศึกษาเรียนรู้ของชุมชน เครือข่าย เด็ก เยาวชน และผู้สนใจ โดยศึกษาพัฒนาทำศูนย์การเรียนรู้สมุนไพร พืชอาหาร หรือศูนย์พฤกษศาสตร์ชุมชนพื้นบ้าน “ Akha Community Botanical Center ” ไว้เป็นแหล่งศึกษาผ่านรูปแบบการจัดการของชุมชน โดยปราชญ์ผู้รู้ อันเป็นมรดกทางสังคม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างห้องเรียนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ของชุมชนชาติพันธุ์ของจังหวัดเชียงราย

ทางด้าน นายอาพี สะโง้ หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าชนเผ่าอาข่า สู่การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ” กล่าวว่า.. โครงการวิจัย เรื่อง “ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าชนเผ่าอ่าข่า สู่การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ” ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. โดยงานวิจัยเป็นหนึ่งกระบวนการที่คนในชุมชนได้มีโอกาสร่วมคิด ร่วมทบทวนสถานการณ์ ตั้งคำถาม วางแผนหาข้อมูล ทดลองทำ รวมไปถึงการวิเคราะห์ สรุปผลการทำงานและหาคำตอบเพื่อปรับปรุงงานต่อไป โดยใช้ “ คน ” และใช้เครื่องมือการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นเครื่องมือ เข้ามาร่วมในกระบวนการวิจัย ตั้งแต่การเริ่มคิด เริ่มทำอย่างเป็นรูปธรรม เรียนรู้จากการปฏิบัติการจริง (Learning By Doing) อันทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ สร้างผลงาน มีความเก่งขึ้นในการแก้ปัญหาของตนเอง และสามารถใช้กระบวนการนี้ในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในท้องถิ่นโดยมีกระบวนการศึกษาเรียนรู้อย่างมีเหตุผล ดังนั้น งานวิจัยจึงต้องเน้น “ กระบวนการ ” เพื่อให้เกิด “ ผลผลิต ” และ “ ผลลัพธ์ ” ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง และเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาของชาวบ้าน รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงในชุมชน ซึ่งจะต้องอาศัย “ เวที ” พูดคุยกัน ถกเถียงและร่วมใช้ “ ปัญญา ” เพื่อหาทางออกของปัญหา















สำหรับแผนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำในมิติด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านการศึกษา มิติด้านความรู้ และมิติด้านเชิงพื้นที่ ใช้รูปแบบกระบวนการวิจัยการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของชุมชน (CBR) มุ่งเน้นพัฒนากลไกการหนุนเสริมงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้มีศักยภาพ โดยการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับชุมชน สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการ ศูนย์ประสานงานวิจัย/โหนดพี่เลี้ยง ชุมชน และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ในการส่งเสริมแก้ไขและป้องกันการสร้างความเหลื่อมล้ำ ภายหลังที่ได้มีการดำเนินการวิจัยในแต่ล่ะส่วนโครงการย่อย ได้ทำการประเมินผลกระทบในภาพรวมในเชิงมูลค่าทางสังคม (Social Value) เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการดำเนินการวิจัยโดยใช้แนวคิดในเรื่อง การวิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) มาประกอบการพิจารณา โดยผลที่ได้จากการศึกษาจะนำไปสู่การกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ในการพัฒนาท้องถิ่นและจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งเป็นต้นเหตุที่สร้างปัญหาทางสังคมด้านต่าง ๆ ในลำดับต่อไป ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ททท. ร่วมมือกับ บขส. จัดรถนำเที่ยวฟรี 10 วัน โอกาสครั้งสำคัญ เปิดกรุ มรดกธรรมล้ำค่าแห่งยุครัตนโกสินทร์ เส้นทางเที่ยวชมโบราณวัตถุล้ำค่าที่หาดูได้ยากกับกิจกรรม “ เป็นบุญตา ครั้งหนึ่งในชีวิต ”

สมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย (TACCO) แถลงข่าวการจัดตั้งสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย พร้อมเปิดตัว งาน Thailand Craft Chocolate Fest’24 ...

ค้าน ! ขึ้นค่าแรง 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ .. 17 สภาองค์การนายจ้าง แสดงจุดยืนร่วมกันคัดค้าน การขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ...