กองทัพอากาศ ประกอบพิธีเนื่องใน “ วันพระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย ”
ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ / เมื่อวันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2566 พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ เนื่องใน “ วันพระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย ” โดยมี หม่อมราชวงศ์ นริศรา จักรพงษ์ พระทายาท พร้อมด้วย นาวาอากาศเอกหญิง พรรณประภา วัณณรถ นายกสมาคมแม่บ้านทหารอากาศ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพอากาศ ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานราชการ และทหารกองประจำการ เข้าร่วมพิธี ณ พระอนุสาวรีย์ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ “ พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย ”
พร้อมกันนี้ ได้จัดให้มีการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอุทิศถวายแด่ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ “ พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย ” ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เพื่อสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงริเริ่มกิจการบินขึ้นในประเทศ
จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 40 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และลำดับที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พุทธศักราช 2426 (นับตามปฎิทินสากล) (1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ในขณะนั้น) เมื่อมีพระชนมายุได้ 14 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก Corps de Pages ประเทศรัสเซีย พระองค์ทรงสอบไล่ได้ที่หนึ่ง และทรงทำคะแนนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของโรงเรียน
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษา ได้เสด็จกลับมาเยี่ยมประเทศไทยอีกครั้งในปี พุทธศักราช 2446 พร้อมกันนั้นพระองค์ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก และในปีเดียวกันนั้นเองก็ได้เสด็จกลับประเทศรัสเซีย เพื่อเข้ารับการศึกษาชั้นสูงต่อไป โดยเข้าประจำโรงเรียนนายทหารฝ่ายเสนาธิการเป็นเวลา 2 ปี ปรากฏว่าพระองค์ฯ ทรงสอบได้เป็นที่ 1 อีกครั้ง และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงพอพระทัยยิ่ง ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็น นายพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซียและเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ อีกทั้งยังพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์อันเดรย์ ชั้นสายสะพาย ซึ่งเป็นตราสูงสุดของประเทศรัสเซียสมัยนั้น รวมทั้งตราเซนต์วลาดิเมียร์อีกด้วย
ด้วยพระปรีชาและความโดดเด่นด้านการทหารของพระองค์นั้น เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ยศนายพันเอก และได้ทรงเริ่มจัดการงานต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเช่นเดียวกับอารยประเทศ ทั้งยังทรงจัดระเบียบการศึกษาด้านการทหาร อาทิ ทรงจัดระเบียบแบบแผนโรงเรียนนายร้อยขึ้นใหม่ โดยให้มีนักเรียนนายร้อยชั้นปฐม และนักเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ทรงวางแนวทางหลักสูตรการศึกษาโรงเรียนเสนาธิการและการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมเข้ารับการศึกษา ถือได้ว่าพระองค์เป็นผู้นำความก้าวหน้ามาสู่กิจการทหารก็ว่าได้
ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทรงเห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาอากาศยานไว้ป้องกันประเทศ จึงทรงดำริจัดตั้งกิจการการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก ทรงจัดให้มีการคัดเลือกนายทหาร 3 นาย ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส คือ นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุนี สุวรรณประทีป), นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข) และ นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัศ จากนั้นกระทรวงกลาโหมได้สั่งซื้อเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศสมาด้วย จำนวน 8 เครื่อง จัดตั้งเป็นแผนกการบินที่สนามราชกรีฑาสโมสร (สนามม้าสระปทุม)
ต่อมา ทรงย้ายที่ตั้งแผนกการบินมาที่อำเภอดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2457 และทรงยกฐานะแผนกการบิน เป็นกองบินทหารบก ในวันที่ 27 มีนาคม พุทธศักราช 2457 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 พระองค์ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการบิน ทั้งในกิจการทหารและกิจการพลเรือน ในปีพุทธศักราช 2462 จึงมีการทดลองการคมนาคมทางอากาศเป็นครั้งแรก โดยนำเครื่องบินสปัด 2 เครื่อง บรรทุกถุงไปรษณีย์ เครื่องละ 1 ถุง จากดอนเมืองไปส่งที่จังหวัดจันทบุรี ผลของการบินเดินทางไปครั้งนั้น นับว่าได้ผลสำเร็จดีทุกประการ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ได้แสดงความชื่นชมและทรงเห็นว่า สมควรจัดการบินไปสู่จังหวัดอื่น ๆ อีก เพื่อให้ข้าราชการ พ่อค้า คหบดีตามจังหวัดต่าง ๆ ได้ดูและช่วยอุดหนุนทางด้านการบิน พร้อมได้กล่าวข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“...กำลังในอากาศเป็นโล่อันแท้จริงอย่างเดียว ที่จะกันมิให้การสงครามมาถึงท่ามกลางประเทศของเราได้ ทั้งยังเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งในการคมนาคมเวลาปกติ...”
จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เสด็จทิวงคตด้วยพระปับผาสะเป็นพิษ (เป็นโรคปอดบวม) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พุทธศักราช 2463 สิริพระชนมายุได้ 37 พรรษา 3 เดือน 10 วัน นับว่าพระองค์ทรงวางรากฐานแนวทางเสริมสร้างกำลังทางอากาศของประเทศไทยอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน กองทัพอากาศจึงได้เทิดพระเกียรติพระองค์ท่านให้เป็น “ พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย ”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น