“ 7 ทศวรรษ ” ตำนานแห่งดอนเมือง สู่การสานต่อศตวรรษแห่งความรุ่งเรือง ณ มวกเหล็ก ...
ที่ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช / เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (7 พฤษภาคม 2566) พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในการประกอบพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ประจำปี 2566 ครบรอบ 70 ปี ประกอบด้วยพิธีวางพวงมาลาอนุสาวรีย์บุพการีทหารอากาศ การประกอบศาสนพิธี และงานเสวนาชุมนุมนายเรืออากาศ ในการนี้คณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพอากาศ พลอากาศโท วชิรศักดิ์ พูสิทธิ์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช พร้อมด้วยคณะผู้บังคับบัญชา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ทายาทจอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ผู้แทนชุมนุมนายเรืออากาศ 6 บริษัท ผู้แทนนักเรียนนายเรืออากาศ ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึง รุ่นที่ 66 ข้าราชการ และนักเรียนนายเรืออากาศ เข้าร่วมพิธีฯ
จุดเริ่มต้นที่สำคัญในการก่อตั้งสถาบันอันทรงคุณค่าและสง่างามแห่งนี้ เกิดจากปณิธานอันยิ่งใหญ่ของ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) ได้แสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่ว่า “เราจะต้องมีโรงเรียนผลิตนายทหารสัญญาบัตรของเราเองให้จงได้” จึงเป็นที่มาของการสร้างโรงเรียนนายเรืออากาศขึ้น ณ ตึกเหลือง ที่กองบินน้อยที่ 6 ซึ่งในปัจจุบันคือที่ตั้งของกองบิน 6 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2496 และถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนนายเรืออากาศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นับจากวันนั้นจวบจนวันนี้ นับเป็นระยะเวลา 70 ปี ที่โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ได้ให้การฝึกศึกษาทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต และมีนักเรียนนายเรืออากาศที่สำเร็จการศึกษาเป็นนายทหารสัญญาบัตรแล้ว จำนวนทั้งหมด 66 รุ่นกว่า 6,000 นาย และสร้างผู้นำสูงสุดของกองทัพอากาศซึ่งคือผู้บัญชาการทหารอากาศจำนวน 28 ท่าน และในปัจจุบันคือผู้บัญชาการทหารอากาศท่านที่ 29 รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอีกจำนวนไม่น้อย
ในส่วนของงานเสวนาชุมนุมนายเรืออากาศ กับประเด็น “ The Spirit of NKRAFA Ready For Take Off To Muaklek ” ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่จะบอกเล่าเรื่องราวการเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ณ ที่ตั้งแห่งใหม่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อให้ก้าวทันโลกปัจจุบัน และรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามแนวทางใหม่ในการผลิตนายทหารสัญญาบัตรหลักของกองทัพอากาศผ่าน 5C Model (Class, Club, Competition, Competency, Country) โดยมีทั้งหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อขับเคลื่อนด้านวิทยาการ งานวิจัย และนวัตกรรมด้านการศึกษา หล่อหลอมนักเรียนนายเรืออากาศให้เป็นทหารอาชีพที่มีภาวะผู้นำ มีความรู้ทางด้านการบิน มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
ภายใต้การนำของผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ที่พร้อมเดินหน้าสู่ความรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ ณ ที่ตั้งอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ด้วยปฏิญาณอันแน่วแน่ ที่ว่า “ เกียรติกล้า ” “ มานะมั่น ” เพื่อที่จะ “ ทะยานก้าว ” สู่อัจฉริยภาพแห่งสถาบันนายเรืออากาศ ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น