วว. ขับเคลื่อน BCG โมเดล วิจัยพัฒนาข้าวอุดมซีลีเนียม สร้างทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภค เสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย ...
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพให้พร้อมต่อสู้กับโรคภัยที่อยู่รอบตัว โดยสิ่งที่จะช่วยให้รอดพ้นจากการเจ็บไข้ คือ การรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคของตัวเองให้ทำงานได้ดี เพื่อปกป้องจากการติดเชื้อโรคต่างๆ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว. ) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวภายใต้การขับเคลื่อน BCG โมเดล ได้ทำการสำรวจ “ ข้าว ” ซึ่งเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันของคนไทย โดยพบว่า ข้าวหอมมะลิ (ข้าวนาปี) มีความสามารถในการสะสมซีลีเนียมมากกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ (ข้าวนาปรัง) โดยซีลีเนียมนั้นเป็นแร่ธาตุที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับวิตามินซี วิตามินอี หรือวิตามินเอ ทำหน้าที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งร่างกายต้องการซีลีเนียมทุกวันในปริมาณน้อยๆ แต่ขาดไม่ได้ หากขาดจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ วว. ยังศึกษาพบว่า ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่ภาคกลาง มีปริมาณซีลีเนียมเป็นองค์ประกอบเพียง 0.5-3.8 ไมโครกรัม/100 กรัม และข้าวพันธุ์อื่นๆ พบมีซีลีเนียมในเมล็ดน้อยกว่า 2.5 ไมโครกรัม/100 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับปริมาณที่ร่างกายต้องการ โดยความต้องการซีลีเนียมต่อวันจะแตกต่างกันออกไปตามช่วงวัย ดังนี้
1.วัยเด็ก อายุ 1-3 ปี ต้องการ 20-90 ไมโครกรัม/วัน อายุ 4-8 ปี ต้องการ 30-150 ไมโครกรัม/วัน
2.เด็กโต อายุ 9-12 ปี ต้องการ 40-280 ไมโครกรัม/วัน
3.วัยรุ่น ผู้ใหญ่ อายุ 13-60 ปี ต้องการ 55-400 ไมโครกรัม/วัน
4.ผู้สูงอายุ อายุ 61 ปีขึ้นไป ต้องการ 55-400 ไมโครกรัม/วัน
จากผลการศึกษา วว. จึงมีแนวคิดเสริมแร่ธาตุซีลีเนียมในข้าว ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการผลิตอาหารเชิงหน้าที่ด้วยการเพิ่มคุณค่าอาหารในข้าวผ่านทางการให้ปุ๋ย โดยเป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือขั้นสูง เกษตรกรสามารถผลิตได้เอง และเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพที่ปลอดภัย เข้าถึงได้ง่ายแก่ผู้บริโภค
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ได้ร่วมกับเกษตรกรผู้ผลิตข้าวปลอดภัยบ้านวังบัว จังหวัดนครนายก ทดลองผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 อุดมซีลีเนียม ประสบผลสำเร็จได้ผลผลิตข้าวที่มีซีลีเนียม 11 ไมโครกรัม/100 กรัม และร่วมกับเกษตรกร อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ทดลองผลิตข้าว กข. 43 อุดมซีลีเนียม โดยได้ข้าวที่มีซีลีเนียม 3 ไมโครกรัม/100 กรัม
ปัจจุบันภายใต้ โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วว. นำองค์ความรู้การผลิตข้าวอุดมซีลีเนียม ไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรผู้สนใจในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 4 ราย นำโดย นายสวัสดิ์ ชีพนุรัตน์ ประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี โดยรอบแรกสามารถผลิตข้าวหอมมะลิ 105 ที่มีซีลีเนียม 3.5 ไมโครกรัม/100 กรัม
นอกจากนี้ วว. ยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำองค์ความรู้การผลิตข้าวอุดมซีลีเนียมและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมซีลีเนียม ในการดำเนิน โครงการศูนย์ BCG Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลไปสู่เกษตรกรนอกวิทยาลัยที่นำร่องโครงการคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ โดยประสบผลสำเร็จสามารถจัดทำแปลงผลิตข้าวเสริมซีลีเนียมจำนวน 7 แปลง ในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ สามารถสร้างอาชีพให้แก่พี่น้องประชาชน ทำให้เกิดรายได้และเป็นต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในการผลิตข้าวอุดมซีลีเนียม เกษตรกรสามารถขอรับคำแนะนำจากนักวิจัย วว. เพื่อประเมินปริมาณซีลีเนียมภายในดิน โดยเปรียบเทียบกับแผนที่แสดงการแจกกระจายซีลีเนียมในดินของประเทศไทย จากนั้น วว. จะปรับสูตรหรือปริมาณปุ๋ยเสริมธาตุซีลีเนียมให้เหมาะสม เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรนำไปทดลองใช้สำหรับการผลิตข้าวในพื้นที่นั้นๆ จากนั้นเมื่อลงมือปลูกข้าวและได้ผลผลิตข้าวแล้วจะมีการตรวจวิเคราะห์อีกครั้งเพื่อความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตข้าวอุดมซีลีเนียม คือ ฟางข้าว ซึ่งยังมีปริมาณซีลีเนียมสูง สามารถนำไปต่อยอดเพาะเห็ดเศรษฐกิจ เช่น เห็ดนางรมเทา และเห็ดนางรมฮังการี โดยฟางข้าวที่มีซีลีเนียมสูงจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเห็ด ทำให้จำนวนดอกต่อช่อเพิ่มขึ้น ได้ผลผลิตดอกเห็ดที่มีคุณภาพในปริมาณที่มากขึ้น และที่สำคัญมีซีลีเนียมสูงขึ้นด้วย
การผลิตข้าวและเห็ดอุดมด้วยซีลีเนียม ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตที่ไม่ผ่านกระบวนการ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 แต่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ดังนั้นในสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลงานวิจัยและพัฒนา ข้าวอุดมซีลีเนียม จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทำเงินที่ วว. พร้อมสนับสนุนให้มีการนำไปใช้ให้แพร่หลายและก่อเกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจในครัวเรือนและประเทศชาติต่อไป
อนึ่ง “ ซีลีเนียม ” เป็นแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้เองต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น ซีลีเนียมพบได้น้อยมากในพืชทั่วไป ปริมาณซีลีเนียมในพืชจะแปรผันตามปริมาณซีลีเนียมที่มีอยู่ในดินที่เพาะปลูก โดยพืชจะดูดซึมซีลีเนียมในดินซึ่งเป็นรูปแบบอนินทรีย์และจะถูกแปลงเป็นซีลีเนียมอินทรีย์ในพืช โดยสารประกอบซีลีเนียมอินทรีย์ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่า
ซีลีเนียม เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์หลายชนิดในรูปของซีลีโนโปรตีน โดยหนึ่งในเอนไซม์ที่สำคัญคือ กลูตาไทโอน เปอร์ออกซิเดส (Glutathione peroxidase) ทำหน้าที่กำจัดอนุมูลอิสระในร่างกาย ป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย นอกจากนี้ยังมีบทบาทสนับสนุนการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้เป็นปกติ โดยทำงานร่วมกับวิตามินอี ซี และเอ มีบทบาทต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การผลิตเซลล์อสุจิ และบำรุงรักษาสุขภาพเส้นผมและเล็บ อาหารที่มีซีลีเนียมสูง เช่น ปลาทู ปลาดุก เนื้อปู หอยแมลงภู่ ไข่ไก่ กุ้งกุลาดำ และชะอม เป็นต้น
จากความสำคัญของซีลีเนียมและความเชี่ยวชาญของ วว. ดังกล่าว วว. เตรียมจัดการประชุม The 7th International Conference on Selenium in the Environment and Human Health ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งได้รับเกียรติจาก Prof. Dr. Gary Banuelos, Plant Soil Scientist in the U.S. Department of Agriculture – Agricultural Research Service (USDA-ARS), Water Management Research Unit and Adjunct Professor at California State University เป็นวิทยากรหลักและผู้ดำเนินการร่วมจัดการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีพบปะของนักวิชาการด้านการเกษตร สาธารณสุข และนักศึกษา เป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และนำเสนอผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับซีลีเนียม ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับมนุษย์และสัตว์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับคำแนะนำปรึกษาด้านการเกษตร ติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 อีเมล tistr@tistr.or.th ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น