นิปปอนเพนต์ เผยโฉมสองผู้ชนะเลิศเวทีนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ Asia Young Designer Awards Thailand 2022 สนับสนุนแนวคิดการออกแบบแห่งอนาคต ให้มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ Converge, Pushing the Reset Button – การรวมกันเป็นหนึ่ง : กดปุ่มเริ่มต้นใหม่ ”

กรุงเทพฯ 28 พฤศจิกายน 2565 : บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศผลสองผู้ชนะการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายในระดับมหาวิทยาลัย โครงการ Asia Young Designer Awards Thailand 2022 หรือ AYDA 2022 โดยปีนี้ ' ชานนท์ บุปผเวส หรือ นนท์ ' นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับผลงาน “ FOUR FOR REST ” และ ' กุลนิษฐ์ พัฒนวิทยกุล หรือ แกงส้ม ' นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาวิชาออกแบบภายในจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับผลงาน “ มรณะศึกษา ” ชนะใจกรรมการ คว้ารางวัลชนะเลิศ Gold Winner ในสาขาสถาปัตยกรรมและสาขาออกแบบตกแต่งภายใน รับรางวัลเงินสดมูลค่า 100,000 บาท และโปรแกรมออกแบบ SketchUp Studio Education Software 2022 เป็นเวลา 1 ปี กลับบ้านไปได้อย่างสมศักดิ์ศรี โดยสองผู้ชนะจากประเทศไทยจะเตรียมความพร้อมมุ่งสู่การแข่งขัน Asia Young Designer Summit  2023 ณ ประเทศเวียดนาม ร่วมกับผู้ชนะจากอีก 16 ประเทศทั่วเอเชีย เพื่อชิงโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรพิเศษ Design Discovery Program ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก Harvard Graduate School of Design สหรัฐอเมริกา เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ด้านการออกแบบอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 3 สัปดาห์ รวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 



การแข่งขันในปีนี้มาพร้อมโจทย์การประกวดในหัวข้อ " Converge, Pushing the Reset Button " หรือ “ การรวมกันเป็นหนึ่ง : กดปุ่มเริ่มต้นใหม่ ” อันเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่ง นนท์ และ แกงส้ม ต่างก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบผ่านกระบวนการคิด และเดินหน้าทำความเข้าใจปัญหาของผู้ใช้งานได้อย่างลึกซึ้ง ดึงความต้องการ ความจำเป็น และปัญหาของผู้ใช้งาน มานำเสนอเป็นโซลูชันงานออกแบบที่ผสานทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานได้อย่างรอบด้าน ตรงตามคอนเซ็ปต์การแข่งขัน ผสมผสานความหลากหลายของชีวิต และทำให้ผลงานการออกแบบมีชีวิตชีวา โดยทั้งสองยังมองว่าการออกแบบที่ดีจะสามารถส่งเสริมความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นความสมดุลที่ช่วยให้เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน 


โดยผลงาน “ FOUR FOR REST ” ของ นนท์ ได้รับแรงบันดาลใจจากการลงพื้นที่ย่านตลาดน้อยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งนนท์สังเกตเห็นความแตกต่างของเส้นทางเดินเรือบนคลองผดุงกรุงเกษม  ซึ่งย่านตลาดน้อยแห่งนี้เป็นคลองเส้นทางเดียวที่ถูกปิด ไม่มีเรือสัญจร จึงคิดอยากปรับปรุงพื้นที่นี้ให้แก่ผู้คนในชุมชน ถึงแม้จะไม่ใช่คนในพื้นที่โดยกำเนิด แต่ก็มีความผูกพันกับย่านนี้ จากการมาเรียนพิเศษตลอดระยะเวลา 2 ปี จึงเกิดความคิดอยากแปลงโฉมชุมชนคลองแออัดให้เป็นสวนสาธารณะ ให้คนในชุมชนได้ออกกำลังกายใกล้บ้าน ผ่านการออกแบบงานสถาปัตยกรรม “ FOUR FOR REST ” ที่ขับจุดเด่นของย่านตลาดน้อยกับบรรยากาศต้นไม้ร่มรื่นริมฝั่งคลอง รวมทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของผู้คนในชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมคลองตลาดน้อยโฉมใหม่ ให้เป็นต้นแบบในการปรับปรุงสถานที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อให้คนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น 


ชานนท์ บุปผเวส หรือ นนท์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ชนะ Gold Winner Architectural กล่าวว่า.. จากการเดินทางไปยังชุมชนย่านตลาดน้อยและได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ตลอดจนปัญหาของพื้นที่ที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้เกิดประโยชน์ จึงเป็นที่มาของงานออกแบบสถาปัตยกรรม “ FOUR FOR REST ” โดยตั้งแต่เข้ามาเรียนคณะสถาปัตยกรรม ผมตั้งใจมาตลอดที่จะสร้างสรรค์งานออกแบบ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการใช้สอยพื้นที่สาธารณะร่วมกันของชุมชนในละแวกนี้ ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ถ่ายทอดความเชื่อของตัวเองลงบนผลงานชิ้นนี้ ที่สร้างประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง ผมต้องขอขอบคุณเวทีการประกวด AYDA ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่อย่างผมได้มีพื้นที่แสดงออก และสานฝันหลักการออกแบบให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมอบโอกาสมากมายที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกด้วย


ด้านผลงาน “ มรณะศึกษา ” ของ แกงส้ม มีจุดเริ่มต้นจากความเสียใจจากการสูญเสียผู้คนรอบตัวอันเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือสัตว์เลี้ยง นำไปสู่การหาวิธีแก้ปัญหา จนกระทั่งพบทฤษฎี Five Stages of Grief ซึ่งเป็นทฤษฎี 5 ระยะของความรู้สึก จึงอยากสร้างพื้นที่เยียวยาจิตใจให้แก่ผู้คน โดยใช้สีและวัสดุเข้ามามีส่วนในการเยียวยาจิตใจ เช่น สีเขียวใช้กับผู้คนในระยะปฏิเสธ ระยะโกรธ ใช้สีขาวเทาที่มืดลงสำหรับระยะต่อรอง และระยะซึมเศร้า เพื่อผลักดันให้ผู้คนรู้สึกดีขึ้นด้วยสีอบอุ่นและวัสดุจากไม้ นำไปสู่ผลลัพธ์ของระยะยอมรับ และเตรียมพร้อมต่อความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การวางแผนรับมือกับการพลัดพรากจากลา โดยเฉพาะการหมดอายุขัยตามกฎของธรรมชาติ ทำให้หลุดพ้นจากความรู้สึกเสียใจที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งหากผ่านระยะยอมรับนี้มาได้ ก็จะไม่ส่งต่อพลังลบไปยังคนรอบข้าง ทั้งยังสามารถแยกแยะความรู้สึกได้ อันเป็นการเตรียมพร้อมอย่างมีสติและไม่ประมาท 


กุลนิษฐ์ พัฒนวิทยกุล หรือ แกงส้ม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ชนะ Gold Winner Interior Design กล่าวว่า.. ดีใจที่ได้ร่วมแข่งขันในโครงการนี้ และได้แบ่งปันความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากความผูกพันกับผู้คนรอบตัวผ่านผลงานการออกแบบ “ มรณะศึกษา ” โดยเฉพาะการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก รวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่อยู่ด้วยกันมายาวนานอย่างไม่ทันตั้งตัว ดิฉันสามารถก้าวข้ามความเสียใจจากการพลัดพรากดังกล่าว ผ่านการศึกษาทฤษฎี Five Stages of Grief โดยมีคนรับฟังในสิ่งที่ดิฉันต้องการนำเสนอ ดิฉันสนุกกับการได้ปรับปรุงผลงานตามคำแนะนำของคณะกรรมการ การได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้ เรียกได้ว่าเกินฝันไปมาก ต้องขอขอบคุณ AYDA ที่ให้โอกาสดิฉัน รับรองว่าจะตั้งใจและพัฒนาตัวเองเพื่อเข้าแข่งขันในรอบการประกวดนานาชาติอย่างแน่นอน

นายวัชระ ศิริฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวสรุปว่า.. ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ดำเนินโครงการ Asia Young Designer Awards นิปปอนเพนต์ได้บ่มเพาะนักออกแบบรุ่นใหม่ให้แก่วงการนักออกแบบมากมาย ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงปัญหาของมนุษย์เป็นหลัก และการสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนานวัตกรรมสีที่มีคุณภาพสูงให้แก่ลูกค้าทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง นิปปอนเพนต์มั่นใจว่าทั้งนนท์ และแกงส้ม รวมไปถึงนักออกแบบทุกท่านที่เข้าร่วมการประกวด AYDA 2022 จะเติบโตและก้าวไปเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ที่แสดงความสามารถอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร้ขีดจำกัด สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการออกแบบของไทยและในระดับสากล พร้อมทั้งสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน 

สองนักออกแบบรุ่นใหม่ผู้คว้ารางวัล Gold Winners จะต้องเตรียมตัวและเตรียมผลงานให้พร้อม เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมกิจกรรม Asia Young Designer Summit 2023 ในลำดับต่อไป เพื่อร่วมชิงตำแหน่ง Asia Young Designer of The Year ...

ติดตามเส้นทางการแข่งขันของพวกเขาได้ที่ Facebook Page: https://www.facebook.com/AsiaYoungDesignerAwardsThailand หรือที่เว็บไซต์ www.asiayoungdesignerawards-th.com 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ททท. ร่วมมือกับ บขส. จัดรถนำเที่ยวฟรี 10 วัน โอกาสครั้งสำคัญ เปิดกรุ มรดกธรรมล้ำค่าแห่งยุครัตนโกสินทร์ เส้นทางเที่ยวชมโบราณวัตถุล้ำค่าที่หาดูได้ยากกับกิจกรรม “ เป็นบุญตา ครั้งหนึ่งในชีวิต ”

สมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย (TACCO) แถลงข่าวการจัดตั้งสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย พร้อมเปิดตัว งาน Thailand Craft Chocolate Fest’24 ...

ค้าน ! ขึ้นค่าแรง 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ .. 17 สภาองค์การนายจ้าง แสดงจุดยืนร่วมกันคัดค้าน การขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ...