ทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot มจพ. คว้า 3 รางวัล ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “ World RoboCup Rescue 2022 ”
ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot จาก มจพ. สร้างชื่อบนเวทีโลกในนามตัวแทนของประเทศไทยอีกครั้งด้วยความเร็ว ความแรง ความแข็งแกร่ง ที่มากด้วยประสบการณ์บนเวทีของหุ่นยนต์ สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม (Best in Class Mobility) อาจกล่าวได้ว่า ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ “ หุ่นยนต์ ” (ROBOT) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีจักรกลที่ถูกพัฒนาสร้างสรรค์ ต่อยอดนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า.. ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot คว้า 3 รางวัล จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “ World RoboCup Rescue 2022 ” ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ Best-in-class Mobility (รางวัลหุ่นยนต์ที่มีสมรรถนะยอดเยี่ยม) และ Best team description papers (รางวัลนำเสนอข้อมูลทีมหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม) ได้อย่างสมศักดิ์ศรี โดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก ประจำปี พ.ศ. 2565 ในการแข่งขัน “ World RoboCup Rescue 2022 ” ระหว่างวันที่ 13-16 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ
การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก “ World RoboCup Rescue 2022 ” เป็นการแข่งขันสุดยอดฝีมือหุ่นยนต์ระดับโลก ต่างให้ความสำคัญถึงการพัฒนาด้านการออกแบบโครงสร้างหุ่นยนต์ ระบบซอฟต์แวร์ ระบบอัตโนมัติ และเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งหุ่นยนต์ยุคนี้ต้องสุดล้ำที่มาพร้อมฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ในเวทีการแข่งขันระดับโลกเช่นกัน ในปีนี้การแข่งขันในแต่ละรอบก็เข้มข้น โดยทีมเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย รวมจำนวน 14 ทีม จาก 10 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรีย แคนาดา จีน เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตุรกี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่เป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมากที่สุดอีกด้วย
ผลงานหุ่นยนต์ iRAP Robot นับได้ว่ามีความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในด้านของทีมเวิร์คของน้อง ๆ นักศึกษาที่สามารถแก้สถานการณ์แบบเกมต่อเกม ด้วยผู้บังคับหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มีทักษะที่เยี่ยม สามารถประเมินสถานการณ์ได้ดี แม่นยำ และมีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของผู้บังคับหุ่นยนต์เอง ทั้งนี้หุ่นยนต์ iRAP Robot มีนักศึกษา จำนวน 15 คน อาจารย์ผู้ควบคุมทีมและที่ปรึกษาทีม ประกอบด้วย 1) รศ.ดร.ธีรวัช บุณยโสภณ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ 2) ผศ.ดร.อมรพันธุ์ พันธุ์โอภาส ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีหุ่นยนต์ 3) ผศ.ดร.วิษณุ จิตวิริยะ 4) ผศ.ชัชชัย เสริมพงษ์พันธ์ 5) อาจารย์ ดร.จิรพันธุ์ อินเทียม 6) อาจารย์นพดล พัดชื่น และ 7) อาจารย์ ดร.อรัญ แบล็ทเลอร์
การที่เยาวชนไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ เป็นโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นบรรยากาศการแข่งขันหุ่นยนต์บนเวทีโลกในแต่ละปีที่นับว่าเข้มข้นมากขึ้นทุก ๆ ปี ทีมหุ่นยนต์จากประเทศต่างๆ ก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น มีการใช้กลยุทธ์และการนำเอาเทคนิคต่าง ๆ มาปรับใช้ในการแข่งขัน ซึ่งทีมหุ่นยนต์สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี และสามารถนำไปต่อยอดเรียนรู้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของเยาวชนไทยในการพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ อย่างไรก็ตามจะมีการใช้หุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยแห่งอนาคตอย่างกว้างขวาง ที่ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่มีความหลากหลาย อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
รายชื่อสมาชิกในทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. ประกอบด้วย 1) วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้แก่ (1) นายฐิติยศ ประกายธรรม (2) นายภูมิทรรศน์ สังข์พันธ์ 2) บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน ได้แก่ (3) นายธรรมฤทธิ์ ศิวาลัย (4) นายจิรกานต์ สุขเจริญ 3) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ (5) นายชัยพฤกษ์ เลาหะพานิช (6) นายอาทิตย์ นาราเศรษฐกุล (7) นายเศรษฐพงศ์ เฟื่องแก้ว (8) นายกลภัทย์ บุญเหลือ (9) นายนภดล จำรัสศรี (10) นายภูบดี บุญจริง (11) นายธีรวัฒน์ เพ็ชรปูน (12) นายสิปปกร ฉัตรจริยเวศน์ (13) นายณัชพล ช่างบุ (14) นายพสิษฐ์ แสงกลับ และ (15) นายนาวิน เอี่ยมสำอางค์
สอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) 1518 ถนนประชาราษฎร์ 1 แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 โทรศัพท์ 0-2555-2091, 0-2568-9010 โทรสาร 0-2587-4350 หรือ www.kmutnb.ac.th ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น