วช. เชิดชูนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 65 แก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในสัตว์ จากแนวคิด “ สุขภาพหนึ่งเดียว ”
วันที่ 16 มีนาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว “ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2565 ” ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น แห่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงาน NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า.. วช. มีภารกิจที่สำคัญในการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ให้แก่ ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น แห่ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่มและอุทิศตนเพื่องานวิจัย ได้สร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยที่สำคัญ มีผลงานการวิจัยวิจัยที่โดดเด่นทางด้านการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยของอาหารและการส่งออก ภายใต้แนวคิด “ สุขภาพหนึ่งเดียว ”
ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น กล่าวว่า.. ผลงานวิจัยทางด้านเชื้อดื้อยานั้น มาจากแนวคิด “ สุขภาพหนึ่งเดียว ” ที่เน้นการศึกษาสถานการณ์และข้อมูลเชิงลึกในระดับพันธุกรรมที่รวมถึงกลไกการดื้อยา การถ่ายทอดยีนดื้อยา การคัดเลือกร่วม การดื้อข้ามและการตรวจวินิจฉัยเชื้อดื้อยา เพื่อแก้ปัญหา “เชื้อดื้อยา” ในคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม โดยโครงการวิจัยเริ่มจากประเทศไทย ขยายไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน เอเชียแปซิฟิก รวมไปถึงแอฟริกา ซึ่งการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงจำเป็นต้องจัดการทั้งระบบ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผลเป็นทางออกที่สำคัญของการรักษาสมดุลระหว่างการใช้ยาต้านจุลชีพและเชื้อดื้อยา
สำหรับ “ เชื้อดื้อยา ” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งการศึกษาวิจัยเชื้อดื้อยาในประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น แห่ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” ที่เชื่อมโยงสุขภาพคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบปศุสัตว์ของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลงานวิจัยครอบคลุมการเฝ้าระวังในระดับฟีโนไทป์และจีโนไทป์ ศึกษาข้อมูลเชิงลึกในระดับพันธุกรรม โดยพบความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาที่แยกได้จากปศุสัตว์ เนื้อสัตว์ สัตว์น้ำและคน รวมทั้งความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาในประเทศไทย และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังและติดตามการดื้อยาปฏิชีวนะระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน และยังเป็นการเชิดชูนักวิจัย นักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัย นักประดิษฐ์เกิดการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะการผลิตผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถผลักดันการใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น