วช. เปิดตัว " ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน " อธิการบดี มจพ. ผู้คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2564 ...
ที่ห้องศูนย์การเรียนรู้ อาคาร วช.1 / เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 มีนาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมเปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ประจำประจำปี 2564 ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในงาน NRCT Talk เปิดบ้านงานวิจัย ครั้งที่ 2
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลที่มอบให้นักวิจัยที่มีสัญชาติไทย ซึ่งได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องในกลุ่มวิชาการหรือสหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม เป็นผลงานวิจัยที่ทำสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัยจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้น ๆ โดยผลงานวิจัยสร้างคุณูปการและเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงชุมชน สังคม และเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยรุ่นหลังได้ และเพื่อเป็นการแนะนำนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติที่ได้รับรางวัล
ในปีนี้วช.ได้จัดกิจกรรมแถลงข่าว เรื่อง “ Kick off กิจกรรมเปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT (In-House) : 1 ในนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 (ครั้งที่ 2)” ขึ้น ซึ่งในวันนี้ วช. ได้มีการเปิดตัว 1 นักวิจัย ผู้ที่ได้รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 จากจำนวน 7 ท่าน ใน 5 สาขา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ หรือเทียบเท่า Provatdozent สาขาวิศวกรรมเครื่องกล (Habilitation in Mechanical Engineering) สังกัด Chemnitz University, GERMANY ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดของประเทศเยอรมนี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ สาขาวิศวกรรมวัสดุศาสตร์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดของประเทศไทย นักวิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับวัสดุคอมโพสิต โดยมุ่งเน้นการใช้วัสดุที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือวัสดุทางเลือกใหม่สำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน กล่าวถึงผลงานที่ได้รับรางวัลว่า ได้พัฒนาวัสดุโครงสร้างเบาสำหรับวัสดุทางวิศวกรรมสมัยใหม่จากวัสดุไบโอคอมโพสิตที่ใช้เส้นใยธรรมชาติเป็นองค์ประกอบ ตลอดจนการศึกษาและพัฒนาวัสดุไบโอพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ อาทิเช่น พอลิเมอร์ต้านเชื้อแบคทีเรีย พอลิเมอร์ที่สามารถจดจำรูปร่างได้ และพอลิเมอร์ซ่อมแซมตัวเองได้ เป็นต้น อีกทั้งทำการศึกษากระบวนการผลิตวัสดุไบโอพอลิเมอร์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษและวัสดุไบโอคอมโพสิตหลากหลายวิธี เช่น กระบวนการผลิตแบบอัดขึ้นรูปด้วยความร้อน การฉีดขึ้นรูป และหล่อขึ้นรูป เพื่อทดแทนและแก้ปัญหาการใช้พลาสติกและเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุ โดยมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาศักยภาพให้แก่นักวิจัยและนักศึกษา ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมสามารถนำงานวิจัยต่อยอดได้ อาทิเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี
" การใช้วัสดุคอมโพสิตมาใช้ในการเป็นโปรเซสการประยุทธ์ใช้ในงานวิจัยที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ในการทำรถยนต์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อโครงสร้างที่เบาแต่แข็งแรง และสามารถย่อยสลายได้ เหมากับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ในอนาคตได้ และหนังสือตำราของอาจารย์ที่เขียนขึ้นมาเองก็นำมาใช้สำหรับสอนนักศึกษาในระดับปริญญาโท-เอก เพราะความรู้ต้องมีการพัฒนาไปตลอด ให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ดังนั้นต้องมีการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องไปเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆให้มากกว่านักศึกษาที่เขาก็มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องเหมือนกัน ดังนั้นเราต้องสร้างความรู้ให้ก้าวหน้ามากกว่าเขา เครื่องกล วัสดุ ฟิสิกส์ เป็นความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ความท้าทายมีอยู่ทุกโปรเจกต์ ทำให้เกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรื่องทุนวิจัยก็เป็นสิ่งสำคัญในการดึงกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมงานวิจัย วัสดุใหม่ๆ ยังเป็นสิ่งที่ต้องการเพื่อใช้งานในด้านอุตสาหกรรม ในอนาคตคอมโพสิตที่ย่อยสลายได้เป็นสิ่งที่ต้องการ การนำวัสดุเหลือใช้มาผสมกับในธรรมชาติเพื่อเกิดความแข็งแรงมากขึ้น การได้รับรางวัลก็เป็นการดีใจและความภาคภูมิใจ ทำให้เกิดกำลังใจในการพัฒนาวัสดุใหม่ๆ ขึ้นมา " ศ.ดร.สุชาติ กล่าว
นักวิจัยที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จะได้เหรียญรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พร้อมประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณ และเงินรางวัลในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น